สมุนไพรไทยกับโรคถุงลมโป่งพอง

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ COPD (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เป็นโรคที่ป้องกันได้และรักษาได้ โดย ทั่วไปมักหมายรวมถึงโรค 2 โรค คือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) และโรคถุงลมโป่งพอง (pulmonary emphysema) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบโรคทั้งสองดังกล่าวอยู่ร่วมกัน1

“ปอด” ในตำราแพทย์แผนไทย  เรียกว่า “ปัปผาสัง” ซึ่งเป็นชื่อเดียวที่ปรากฏในคำว่า อาการ 32ในทางพระพุทธศาสนา ร่างกายของคนเราสามารถพิจารณาจำแนกออกเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) และ วาโยธาตุ (ธาตุลม) ในจำนวนธาตุทั้ง 4 นี้ มีอยู่ 2 ธาตุ ที่สามารถจับต้องได้ คือ ปฐวีธาตุ กับ อาโปธาตุ ปอดจัดเป็นปฐวีธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะแข็ง หากปอดแตกหรือพิการ (ปอดเสียหาย) จะมีอาการดุจไข้พิษ ทำให้ร้อนในอก กระหายน้ำ ให้หอบดุจสุนัขหอบแดด ในทางแผนไทยอาจเรียกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังว่า “ปับผาสังพิการ”

ในศาสตร์การแพทย์แผนไทยก็มีสมุนไพรหลายชนิด ที่อาจจะมีส่วนช่วยเสริมการรักษาแผนปัจจุบัน อันจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดและบรรเทาอาการ โดยเฉพาะหอบเหนื่อย2

สมุนไพรที่มีงานวิจัย

ขมิ้นชัน 

ขมิ้นชันเป็นเครื่องเทศที่ถูกใช้เป็นอาหารของคนเอเชียมาช้านานหลายพันปี โดยขมิ้นชันมีสารเคอร์คูมินที่มีฤทธิ์โดดเด่นในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบที่ดีมาก ฤทธิ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการป้องกันการถูกทำลายของปอดจากกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในหลอดลม เนื้อปอด และหลอดเลือดปอด

มีข้อมูลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบกับการทำงานของปอดในประชากรผู้สูงอายุชาวจีนจำนวน2,478คน ที่มีอายุตั้งแต่ 55ปีขึ้นไป ผลการศึกษาพบว่า การบริโภคแกงที่มีขมิ้นชัน (อย่างน้อยเดือนละครั้ง) ทำให้สมรรถภาพของปอดดีขึ้น และยิ่งบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันบ่อย สมรรถภาพของปอดก็ยิ่งสูงมากขึ้น3 

ปริมาณเฉลี่ยที่คนอินเดียกินขมิ้นชันอยู่ในมื้ออาหารจะอยู่วันละ 125 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นวันละครึ่งช้อนชา

หากสะดวกรับประทานแบบแคปซูล แนะนำรับประทานวันละ 1-2 แคปซูล หลังอาหารมื้อใดก็ได้ รับประทานต่อเนื่องได้ 3 เดือน (เว้น 1 เดือนหากจะกลับมารับประทานใหม่)ห้ามใช้ขมิ้นชันในผู้ที่ท่อน้ำดีอุดตัน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี หากจะใช้ขมิ้นชันให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ หากตัดถุงน้ำดีทิ้งแล้วสามารถใช้ขมิ้นชันได้5

เมนูที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบที่แนะนำ เช่น แกงส้มปักษ์ใต้ แกงเหลือง ไก่ต้มขมิ้น ปลาทูต้มขมิ้น เป็นต้น 

*หากกินขมิ้นชันพร้อมกับพริกไทย จะส่งผลให้การดูดซึมขมิ้นชันเพิ่มขึ้น

ภาพจากhttps://www.organicfacts.net/health-benefits/herbs-and-spices/turmeric.html

ตำรับยาอภัยสาลี

ปี 2555 โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงรายมีรายงานการใช้ตำรับยาอภัยสาลีร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 250 ราย ระยะเวลา 3 เดือน ถึง 3 ปี 6 เดือน พบว่าให้ผลการรักษาที่ดี ต่อมาในปี 2559 จึงได้จัดทำงานวิจัยทางคลินิกศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยทางคลินิกของตำรับยาอภัยสาลีในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคงที่ระดับที่1-2 จำนวน 66 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองได้รับยาอภัยสาลี จำนวน 33ราย ให้ยาในขนาดความแรง 300 มิลลิกรัมต่อแคปซูล รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล คิดเป็น 900 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นหยุดใช้ยาเป็นเวลา 1 เดือน และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก จำนวน 33 ราย ติดตามผลทุก30 วัน โดยประเมินอาการทางคลินิก คุณภาพชีวิต ร่วมกับผลการตรวจเลือด วิเคราะห์ผลทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่า               การรับประทานยาอภัยสาลีร่วมกับการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผลเพิ่มความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด ลดความเหนื่อย คุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว และมีความปลอดภัย2

ปัจจุบันตำรับยาอภัยสาลีเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในข้อบ่งใช้บำบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น แต่เนื่องจากในตำรับมีตัวยามากถึง 19 ชนิด ตัวยาหลักมีฤทธิ์ร้อน ช่วยกระจายเลือดลม บำรุงโลหิต และบางตัวมีสรรพคุณบำรุงปอดได้ เช่น  โกฐสอ เหง้าว่านน้ำ พิลังกาสา ข้อห้ามใช้ของตำรับยาอภัยสาลีคือ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน5


ดอกปีบ

สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ดอกมีสรรพคุณแก้ริดสีดวงจมูก ช่วยขยายหลอดลม แก้หืด ขับน้ำดี บำรุงกำลัง บำรุงเลือด รากใช้รักษาวัณโรค บำรุงปอด แก้หอบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ และเปลือกช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ทางแผนไทยนิยมนำดอกปีบแห้งมวนด้วยใบบัวหลวง หรือใบตองนวลสูบแก้หอบ ปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่าในดอกปีบมีสารฮิสปิดูลิน (hispidulin) ซึ่งระเหยได้ มีฤทธิ์ขยายหลอดลม6

ภาพจาก https://sites.google.com/site/aaysongsiri42/3

หนุมานประสานกาย

สรรพคุณทางยาไทย บันทึกว่าใบรสหอมเผ็ดปร่า ขมฝาดเล็กน้อย แก้เจ็บคอ คออักเสบ แก้ปอด และหลอดลมอักเสบ แก้ช้ำใน แก้อาเจียนเป็นเลือด กระจายเลือดลมที่จับกันเป็นก้อนหรือคั่งภายใน ทำให้เลือดลมเดินสะดวก ใช้ภายนอกตำพอกแผลสด ห้ามเลือด สมานแผลแก้อักเสบบวมปัจจุบันมีงานวิจัยในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดจากใบหนุมานประสาน มีสารซาโปนินซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลม


วิธีใช้เป็นยา
– การใช้ใบหนุมานประสานกายให้ใช้ใบสดล้างให้สะอาดเคี้ยวครั้งละ2 ใบ กลืนน้ำจนกว่ากากยาจะจืดจึงคายทิ้ง หรือกลืนลงไปเลยก็ได้ เคี้ยววันละ 2 ครั้งก่อนอาหารเช้า และเย็น 
– การใช้ใบแห้งให้ใช้ 1-3 ใบชงน้ำดื่มแทนชา หรือถ้าต้มใช้ประมาณ 7-8 ใบต้มกับน้ำ4 แก้ว ปล่อยให้เดือดเบาๆ จนน้ำงวดเหลือครึ่งหนึ่ง แบ่งกินวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น
*ไม่ควรใช้ในปริมาณมาก ในบางคนอาจเกิดอาการแพ้ มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ต้องหยุดใช้ยาทันที ฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากการใช้ใบสดมากกว่าใบแห้ง 
*ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตต่ำ
**ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์7

ภาพจาก Misterherb

ใบหูเสือ

ต้นและใบมีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน นิยมกินเป็นอาหาร เช่น ผักจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงจืด หรือปั่นเป็นเครื่องดื่ม (อาจผสมกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น สับปะรด ช่วยให้กินง่ายขึ้น) ในอินเดียและแถบเกาะคาริบเบียนใช้ใบหูเสือเป็นยาแก้ไอเรื้อรัง แก้หอบ รักษาหลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ ปัจจุบันพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาว่าใบมีฤทธิ์ขยายหลอดลม 

ตำรับยาแก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลา (อาจจะใส่น้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อยด้วยก็ได้) โดยให้กินก่อนหรือหลังอาหาร อุ่นเช้าและเย็น สัก 2 วัน ต้มดื่มเรื่อย ๆ จะช่วยทำให้อาการไอและเจ็บคอดีขึ้นและหายได้8

ตำรับยาต้มบำรุงปอด แก้หอบหืด ของคลินิกร้านยาโพธิ์เงินโอสถ-อภัยภูเบศร

มีการเก็บเคสผู้ป่วยที่น่าสนใจ จากประสบการณ์ผู้เขียนเอง

“…..คุณลุงประเทือง อายุ 68ปี เป็นโรคถุงลมโป่งพอง เพราะสูบบุหรี่มามากกว่า 40 ปี ทุกวันนี้สูบใบจากวันละ 5-6 ตัว เมื่อปี 2560 มีอาการรุนแรงมากขึ้น เหนื่อยจนไม่สามารถทำงานอะไรได้เลย รับยาแผนปัจจุบันมากิน 2ชุดแต่อาการไม่ดีขึ้น ลุกจากที่นอนตื่นมาก็เหนื่อย ต่อมาได้ลองใช้ยาต้มสมุนไพรบำรุงปอด แก้หอบหืด จากร้านยาโพธิ์เงิน อภัยภูเบศร กิน 1แก้วกาแฟ ก่อนอาหาร 3มื้อ เริ่มเห็นผลตั้งแต่ชุดแรกที่กิน ตอนนี้กินยาเข้าชุดที่ 3แล้ว และคุณลุงไม่เหนื่อยเหมือนเมื่อก่อน สามารถกลับมาประกอบอาชีพ ทำงานได้ตามปกติ 

 ภาพจาก https://medthai.com

แหล่งอ้างอิง

  1. คณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง. แนวทางปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ; 2553.
  2. วิวรรณ วรกุลพาณิชย์ และคณะ. ประสิทธิผลและความปลอดภัยทางคลินิกของตำรับอภัยสาลีในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคงที่ ระดับที่ 1-2. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2561;16 :33-43.
  3. Tze PN, Mathew N, Keng BY, Wan CT. Curcumins-Rich Curry Diet and Pulmonary Function in Asian Older Adults. PLOS ONE 2012;7(12):1-7.
  4. Fuhrman J. 31 day food revolution. America : Ocean robbins; 2019.
  5. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2561
  6. กฤติยา ไชยนอก. หอมดอกปีบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
  7. สุภาภรณ์ ปิติพร. สมุนไพรกับโรคหอบหืด. นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 426 ตุลาคม 2557
  8. ArumugamG, Swamy MK and  SinniahUR. Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng: Botanical, Phytochemical, Pharmacological and Nutritional Significance.Molecules 2016, 21(4) : 369.

โดย ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ

ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร